top of page

ตรวจบ้านด้วยตัวเอง ต้องเตรียมอะไรบ้าง



ในการซื้อบ้านนั้น สำหรับหลายๆคนคงคิดว่า การตรวจบ้าน นั้นไม่มีความจำเป็น ถ้าเราเลือกโครงการดี มีชื่อเสียง ไม่มีประวัติเสียหายแล้ว ทำไมเราจะต้องเสียเงินเพื่อมาตรวจบ้านใช่ไหมคะ ต้องบอกเลยว่าเรื่องบ้านนั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และพบปัญหาจุกจิกได้ง่ายมากเลยล่ะค่ะ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยค่ะว่าบ้านที่เราได้นั้นมีมาตรฐานแค่ไหน และจะพบปัญหาอะไรตามมาอีกมั้ยหลังจากเราเข้าไปอยู่แล้ว และการจะมานั่งซ่อมบ้านในขณะที่เราเข้าไปอยู่อาศัยแล้วก็คงถือเป็นปัญหาใหญ่เลยนะคะ ดังนั้นเราควรตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่าบ้านหลังนั้นพร้อมเข้าอยู่จริงๆหรือยัง ทำให้การตรวจรับบ้านก่อนโอนนั้นถือว่าค่อนข้างมีความสำคัญเลยค่ะ เพราะถ้าเรายังไม่รับบ้าน ก็ถือว่าเรายังอยู่ในช่วงที่จะสามารถต่อรองและให้ทางโครงการเข้ามาจัดการความเรียบร้อยให้กับเราได้อยู่นั่นเองค่ะ วันนี้น้องอินดี้จะมาแนะนำ วิธีการเตรียมตัวว่าเราต้องมีอะไรบ้าง หากต้องการตรวจรับบ้านด้วยตัวเองค่ะ


ตรวจบ้านด้วยตนเอง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

เมื่อเราได้รับแจ้งว่าสามารถเข้าไป ตรวจบ้านก่อนโอน แล้วนั้น อย่างแรกที่เราต้องตรวจก็คือสัญญาซื้อขาย และเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางโครงการกำหนด ในตอนนี้หากมีข้อสงสัยในส่วนใหนให้รีบสอบถามกับทางโครงการให้เรียบร้อยและหากทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้วให้ทำการนัดหมายเวลากับทางโครงการเพื่อเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้าน โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงเช้า เนื่องจาก วิธีตรวจรับบ้าน จะต้องทำการทดสอบระบบต่างๆ ภายในบ้านอย่างละเอียด ซึ่งมีหลายขั้นตอนและใช้เวลาค่อนข้างนาน การนัดหมายช่วงเช้าจะทำให้ใช้เวลาตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ และด้วยตัวบ้านที่อาจจะยังไม่มีไฟฟ้าจึงควรตรวจสอบในเวลากลางวันเพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอต่อการตรวจสอบส่วนต่างๆรอบบ้านนั่นเองค่ะ


ขั้นที่ 1 เตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ก่อนตรวจบ้าน

ก่อนที่จะลงมือตรวจบ้านควรเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้นนะคะ ทั้งนี้อุปกรณ์ต่างๆสามารถดัดแปลงหรือประยุกต์สิ่งของต่างๆมาเพื่อใช้ทดแทนกันได้ค่ะ

  • บันไดพับ : ใช้สำหรับตรวจสอบพื้นสูงๆเช่น เหนือฝ้าเพดาน หรือ งานไฟเพดาน

  • กระดาษโพสต์อิท หรือสติกเกอร์ : ใช้ทำสัญลักษณ์ในจุดที่ต้องการแก้ไข

  • แปลนบ้าน : แปลนบ้านใช้เพื่อวงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้จำได้ว่ามีจุดไหนบ้าง

  • กระดาษ ดินสอ : สำหรับจดบันทึกรายการแก้ไข สามารถDownload ได้ในอินเตอร์เน็ต ให้เราปริ้นท์และเตรียมไปด้วยค่ะ การจดควรใช้เป็นดินสอเพื่อที่จะลบแก้ไขได้ง่ายค่ะ

  • กล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์ : ใช้ถ่ายภาพบันทึกตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขเพื่อเปรียบเทียบเมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว

  • ไฟฉาย : สำหรับส่องพื้นที่มืดที่แสงเข้าไม่ถึง หรือบางตำแแหน่งที่ต้องการแแสงสว่างมากๆในการตรวจสอบ อย่างใต้หลังคา งานวางท่อ การวางสายไฟ เป็นต้น

  • เหรียญ : สำหรับเคาะเพื่อตรวจกระเบื้อง ว่ามีการปูที่เต็มไหม มีโพรงหรือเปล่า หรือจะใช้แท่งเหล็ก หรือไม้บรรทัด Aluminium หนาๆแทนก็ได้ค่ะ

  • ที่วัดระดับน้ำ : เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบความลาดเอียงของพื้นที่ในแนวราบ แนวดิ่ง มีขายตามร้านอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้านและร้านค้าออนไลน์ทั่วไป โดยอุปกรณ์นี้สามารถใช้ตรวจได้หลายอย่างทั้งความลาดเอียง ระดับองศา ความยาว จึงถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ควรเตรียมไปสำหรับตรวจบ้านอย่างหนึ่งเลยค่ะ ควรเลือกที่มีความยาวหน่อยนะคะ

  • ผ้าขี้ริ้ว : ใช้สำหรับอุดท่อระบายน้ำเพื่อขังน้ำทดสอบพื้น และท่อระบายน้ำ

  • ขนมปัง : ใช้ทดสอบโถสุขภัณฑ์ โดยใช้แทนสิ่งปฏิกูล เพื่อตรวจสอบว่าชักโครกสามารถกดน้ำลงไปได้หมดหรือไม่นั่นเองค่ะ

  • อุปกรณ์เช็คไฟ หรือ ไขควงเช็คไฟ : สำหรับเช็คปลั๊กไฟว่าต่อสายถูกต้องหรือไม่ ใช้งานได้ไหม สามารถหาซื้อได้ที่ HomePro, ไทวัสดุ หรือร้านค้าวัสดุก่อสร้าง และร้านค้าออนไลน์ทั่วไป ใช้ตรวจสอบการวางขั้วว่าถูกต้องหรือไม่นั่นเองค่ะ

  • คัตเตอร์ หรือกรรไกร สำหรับตัดเทปกาว หรือใช้แกะพลาสติกหุ้มของต่างๆ

  • ถังน้ำ และสายยาง สำหรับทดสอบความลาดเอียงของการระบายน้ำบริเวณพื้น และสามารถใช้ทดสอบการรั่วซึมของขอบยางประตู หน้าต่างได้ด้วยค่ะ

  • ถุงมือยาง และรองเท้ายาง สำหรับใส่ป้องกันเมื่อต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าต่างๆ

  • ลูกแก้ว เพื่อใช้ทดสอบการปูพื้นในห้องต่างๆ




วิธีตรวจรับบ้าน ตามเช็คลิสต์มีอะไรบ้าง?

วิธีที่ดีที่สุดในการ ตรวจบ้านด้วยตนเอง คือ การตรวจสอบตั้งแต่ส่วนของหน้าบ้าน ไล่ไปจนถึงห้องที่อยู่ด้านในสุด และใช้วิธีไล่สายตาจากพื้นไปจนจรดเพดานเพื่อไม่ให้พลาดรายละเอียดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ส่วนรายละเอียดในแต่ละจุดที่ต้องตรวจสอบ สามารถแบ่งเป็นจุดๆตามนี้ค่ะ


พื้นที่บริเวณนอกบ้าน

ให้เริ่มตรวจดูตั้งแต่รั้วรอบบ้าน และประตูรั้วว่าใช้งานได้ปกติ ตรวจรอยเชื่อมตามจุดต่างๆ รวมถึงตรวจดูว่าทากันสนิมเรียบร้อยหรือไม่ ล้อและรางเลื่อนใช้งานได้ดีไหมฝืดหรือไม่ ในส่วนของสวนหน้าบ้านให้ตรวจสอบดูความเรียบร้อยของหน้าดินว่ามีการถมที่เเน่นหนาและเรียบร้อยหรือไม่ ตรวจการปูหญ้า และตรวจสอบการระบายน้ำว่าสามารถระบายจากในบ้านไปนอกบ้านได้ดีหรือเปล่า


โครงสร้างต่างๆ ของตัวบ้าน

ตรวจสอบโดยการสังเกตที่คานของตัวบ้านว่าเกิดการโค้งงอหรือมีรอยแตกหรือไม่ ในส่วนของผนังไม่มีการล้มเอียง มีความเรียบเนียน ไม่มีรอยร้าว รวมไปถึงตรวจบัวพื้นและบัวฝ้าว่าติดตั้งเรียบชิดกับผนัง และมีรอยต่อที่พอดีสวยงามไหม สำหรับวอลเปเปอร์ ให้ตรวจสอบเชื้อรา ให้ครบทุกแผ่น หากพบเชื้อราหรือความชื้นต้องแจ้งให้โครงการเปลี่ยนแผ่นใหม่และให้ตรวจสอบหาต้นตอของความชื้น เพราะนั่นหมายถึงบ้านอาจมีปัญหาความชื้นจากห้องน้ำ หรือผนังรั่วซึมอยู่ โดยอาจเกิดปัญหา ในระยะยาวได้

สำหรับงานฝ้าเพดานนั้น หากเป็นฝ้าทีบาร์ เส้นทีบาร์จะต้องเรียบเสมอกัน ไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้องซีเมนต์กับเส้นทีบาร์ หากเป็นฝ้าเพดานฉาบเรียบต้องมองไม่เห็นรอยยาแนวบริเวณรอยต่อ ในส่วนการติดตั้งประตู หน้าต่าง วงกบต้องแนบผนัง มีบังใบเรียบร้อย ใช้งานได้ปกติ ให้ทดสอบโดยเปิดดูว่ามีการทรุดตัวไหม ให้ทำการเปิดปิดเพื่อตรวจสอบวงกบ และให้ปิดประตูแล้วเอาไฟฉายส่องดูว่ามีแสงลอดไหม รวมทั้งเมื่อล็อคประตูแล้วให้เอากุญแจลองไขดูทุกดอกโดยประตูหน้าต่างทุกบานควรเปิดปิดได้ง่ายและไม่มีเสียงรบกวน

สำหรับบันไดให้ตรวจสอบตั้งแต่ราวบันไดโดยเช็คตามจุดรอยต่อ ว่ามีความเรียบร้อยหรือไม่ ในส่วนของราวบันไดให้ใช้ระดับน้ำตรวจสอบความลาดเอียงว่าติดตั้งได้ถูกต้องหรือไม่ และตัวขึ้นบันไดควรติดตั้งให้แข็งแรงแน่นหนา และมีความเรียบร้อย


งานสุขาภิบาล

ทำการเปิดก๊อกน้ำทุกจุด ทุกตัวในบ้าน ตรวจสอบว่าน้ำไหลดีหรือไม่ รวมถึงตรวจดูว่าน้ำรั่วหรือไม่ ให้ตรวจดูรอบๆก็อกน้ำ รวมถึงจุดต่างๆในห้องน้ำว่ามีน้ำเจิ่งนองหรือไม่ หลังจากนั้นทำการเทน้ำลงบนทุกจุดที่มีทางระบายน้ำเพื่อดูการทำงานของท่อระบายน้ำว่าระบายน้ำได้ดีทุกจุดหรือไม่

ตรวจสอบในห้องน้ำโดยต้องมีของให้ครบทั้งอ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ ชักโครก สายชำระ ที่ใส่กระดาษทิชชู ที่แขวนผ้าเช็ดตัว ก๊อกน้ำและฝักบัว รวมไปถึง ฝาปิดท่อน้ำแบบกันกลิ่น


งานระบบไฟฟ้า

ก่อนทำการเช็คระบบไฟควรสวมถุงมือ หรือรองเท้ากันไฟฟ้าใว้ หลังจากนั้น ทำการเปิด-ปิดไฟทุกดวงในบ้านว่าดวงไหนติด ดวงไหนไม่ติด ทำการจดบันทึกหากพบปัญหาไฟกระชากหรือไฟไม่ติด และหากต้องการอยากจะย้ายไฟดวงไหน ให้ทำการดูตำแหน่งและกำหนดจุดในแปลนบ้านเพื่อทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ ในส่วนของปลั๊กไฟให้ใช้ไขควงวัดไฟ จิ้มไปที่น็อตของปลั๊กไฟก่อน เพื่อตรวจสอบว่ามีไฟรั่วหรือไม่ หากไม่พบไฟรั่วจึงทำการเปิดปลั๊กไฟเพื่อดูการเดินสายไฟว่ามี 3 เส้นหรือไม่ โดยต้องมีสายดินด้วย หลังจากนั้นจึงใช้ไขควงวัดไฟจิ้มเข้าไปในรูว่ามีกระเเสไฟในปลั้กหรือไม่ โดยให้ตรวจสอบทุกจุดในบ้าน

สำหรับปลั๊กไฟในห้องน้ำต้องให้ตรวจสอบว่ามีการเดินสายไฟสำหรับติดเครื่องทำน้ำอุ่นให้ หรือไม่ หากมีการเดินให้ตรวจสอบสายดินด้วยว่ามีการเดิยสายดินใว้เรียบร้อยหรือเปล่า และต้องมีเบรกเกอร์ติดแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดไฟรั่วขณะอาบน้ำ

ในส่วนของไฟเพดานให้ขึ้นไปดูใต้ฝ้าว่ามีการร้อยสายไฟใส่ท่อไว้ให้เรียบร้อยหรือเปล่า โดยก่อนขึ้นไปเปิดใต้ฝ้าต้องปิดระบบไฟที่กล่องไฟให้เรียบร้อยก่อน สำหรับสาเหตุที่ใต้ฝ้าต้องร้อยสายไฟใส่ท่อเพราะจะต้องใช้ป้องกันน้ำรั่วเวลาฝนตก หลังคารั่ว เพื่อไม่ให้น้ำโดนสายไฟแล้วจะเป็นอันตรายกับบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้ หลังจากตรวจสอบระบบไฟทั้งหมดแล้วให้ ปิดไฟทุกดวงในบ้าน แล้วตรวจสอบมิเตอร์ไฟว่ามีไฟวิ่งไหม ถ้ามิเตอร์วิ่งแสดงว่าไฟรั่ว ให้ทำการตรวจหาและแก้ไขทันที

อีกข้อที่ต้องตรวจสอบคือสายดินของกล่องไฟหลัก ต้องฝังลึกประมาณ 2 เมตร ให้ทำการตรวจสอบว่ามีการฝังใว้ตามระดับที่แจ้งหรือไม่

ตรวจสอบปลั๊กไฟทุกตัวในบ้านว่าใช้งานได้ดีไหม และ ปลั๊กไฟนอกอาคารต้องมีตัวกั้นน้ำเพื่อป้องกันอันตรายหากฝนตก กระดิ่งหน้าบ้านต้องเดินสายไฟ 3 เส้นเหมือนกัน ควรมียางกันน้ำ หรือมีกล่องครอบกันน้ำ ติดตั้งใว้ด้วย



งานกระเบื้องปูพื้นและงานพื้นอื่นๆ

ให้ถอดรองเท้าและเดินลากเท้าเปล่าไปกับพื้นดูว่าปูพื้นเรียบร้อยไหม มีขอบของกระเบื้องเกยขึ้นมาหรือไม่ หลังจากนั้นใส่ถุงเท้าเดินอีกรอบจะได้รู้ว่ามีรอยหรือเปล่า และให้ตรวจสอบตามร่องยาแนวที่ปูกระเบื้องใว้ว่ามีความเรียบร้อยไหม และมีความแน่นหนาหรือไม่ หลังจากนั้นใช้เหรียญหรือค้อนยางเคาะที่พื้นดูว่ามีเสียงพื้นโป่งหรือเปล่า หากมีให้เอากระดาษกาวแปะทำเครื่องหมายไว้ว่ามีส่วนไหนบ้างที่ปูไม่เรียบร้อย เมื่อตรวจสอบกระเบื้องเสร็จ ให้เอาลูกแก้ววางบนพื้น และห่างกันประมาณ 10 ซม.แล้วดูว่าลูกแก้วไหลไปทางไหน ถ้าไหลไปรวมกันแสดงว่าพื้นเป็นหลุม แต่หากจุดไหนไม่มีลูกแก้วอยู่แสดงว่าพื้นปูดให้ทำการแปะกระดาษใว้ และจดตำแหน่งในแปลน เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการแก้ไข


ในการซื้อบ้านนั้นเชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้นบ่อยๆเพราะกว่าจะได้บ้านมาแต่ละหลังก็ต้องทำการเก็บหอมรอมริบเป็นเวลานานเลยใช่ไหมคะ ดังนั้นคงไม่มีใครอยากได้บ้านที่ไม่มีคุณภาพแน่ๆ แม้การตรวจรับบ้านจะมีขั้นตอนมากมายและต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่าง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความสำคัญมากๆเลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นน้องอินดี้ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้พี่ๆได้ตรวจเช็คก่อนทำการรับโอนบ้านกันนะคะ ถ้ามีปัญหาอะไนจะได้แก้ไขได้ทัน และได้บ้านที่ดีและไม่มีปัญหาอื่นๆตามมา จะได้เป็นเจ้าของบ้านแบบมีความสุขกันทุกคนเลยค่ะ และหากพี่ๆคนไหนอยากเสนอแนะหรือมีอะไรที่น้องอินดี้พลาดไปก็ส่งข้อความมาบอกกันได้นะคะ และสุดท้ายขอให้พี่ๆทุกคนมีสุขภาพที่ดี และมีความสุขกันทุกคนเลยนะคะ :)









547 views0 comments
bottom of page